ประวัติความเป็นมา
อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นมหาวิทยาลัยหลักในภาคใต้ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนาภูมิภาคให้มีความเจริญทางด้านการศึกษาในสาขาวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ภาคใต้ตลอดจนการพัฒนาอุตสาหกรรมอันเป็นฐานสำคัญในการในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์อย่างชัดเจนว่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นั้น มีศักยภาพและความเข้มแข็งด้านการวิจัยในระดับชั้นนำของประเทศ
อย่างไรก็ตาม การนำเอาผลงานวิจัยตลอดจนองค์ความรู้ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นทุนทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่สำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศภายใต้นโยบายระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge Based Economy) และสังคมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy Society) นั้น ยังมีการดำเนินการอยู่ในระดับหนึ่ง และยังไม่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ทั้งนี้เนื่องจากการขาดซึ่งกลไกและระบบการทำงานที่เหมาะสมในการเชื่อมโยงภาคมหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรม
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2555 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ให้ดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ขึ้น โดยมีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นแม่ข่าย มีการจัดสรรเป็นงบอุดหนุนผ่านทางสำนักงาน เลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) สำนักงานปลัดกระทรวง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีการดำเนินงานที่มุ่งเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมยางพารา และปาล์มน้ำมันที่มีเป้าหมายสอดคล้อง กับยุทธศาสตร์การพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์ของประเทศ (พ.ศ. 2556 – พ.ศ.2560) โดยมุ่งเน้นส่งเสริมให้ภาคเอกชนลงทุนทำวิจัยและพัฒนา นำทรัพยากรและโครงสร้าง พื้นฐานวิจัยและพัฒนาในภาครัฐมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เชื่อมโยงอุทยานวิทยาศาสตร์กับการพัฒนา เศรษฐกิจของพื้นที่สนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการฐานธุรกิจเทคโนโลยีอย่างยั้งยืน รวมถึงพัฒนาศักยภาพของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค อันเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต