📣📣"วิจัยสู่ธุรกิจ: เปลี่ยนไอเดียให้กลายเป็นนวัตกรรม"
ในการก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการในสนามธุรกิจจริง สิ่งที่จะสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์ของเรา คือ "นวัตกรรมใหม่ ๆ" ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการแข่งขัน นวัตกรรมไม่ได้เกิดขึ้นจากความบังเอิญ แต่เป็นผลลัพธ์ของการมองเห็นปัญหาและค้นหาวิธีแก้ไขที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
📌สำหรับผู้ประกอบการหลายคน แรงบันดาลใจในการเริ่มต้นธุรกิจมักมาจากประสบการณ์และความสนใจส่วนตัว อย่างไรก็ตาม การสร้างนวัตกรรมขึ้นมาเองอาจไม่ใช่แนวทางที่เหมาะกับทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่มุ่งเน้นการทำธุรกิจมากกว่าการใช้เวลาทั้งหมดไปกับการทำวิจัย
📌ในกรณีของผม อาจจะโชคดีที่งานวิจัยที่ทำไว้ประสบความสำเร็จ แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ก็ต้องใช้เวลากว่า 1 ปีในการพัฒนาและทดลองจริง พร้อมรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญและอาจารย์หลายท่าน ซึ่งทำให้ผมได้เรียนรู้ว่า การสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นได้นั้นต้องประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ ดังนี้
• เริ่มต้นจากสิ่งที่สนใจ และกำหนดทิศทางให้ชัดเจน การจะเลือกทำธุรกิจสัก 1 ธุรกิจ อาจจะต้องเริ่มจากสิ่งที่ตัวเองสนใจและกำหนดทิศทางในการทำที่ชัดเจน
•เลือกเทรนด์ที่กำลังมาแรง การเลือกสร้างธุรกิจที่สอดคล้องกับแนวโน้ม เทรนด์ของโลกเช่น สิ่งแวดล้อม สุขภาพ หรือเทคโนโลยี มีโอกาสที่เราจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและตลาดที่กว้างมากขึ้น
•ค้นหาจุดแข็งและเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ หากหาจุดแข็งไม่เจอ แนะนำว่าลองมองในระดับชุมชน จังหวัด หรือประเทศ เพื่อเลือกจุดแข็งของธุรกิจของเรา
📌ตัวอย่างเช่น ผมเลือกสร้างธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ "ยางพารา" เพราะเติบโตมาในครอบครัวที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีการทำสวนยางพาราเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชน รวมถึงครอบครัวของผมเองก็เป็นเกษตรกรที่ปลูกยางพาราและขายน้ำยาง ด้วยเหตุนี้ ผมจึงเห็นโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งนำไปสู่การทำธุรกิจที่เชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมและเกษตรยั่งยืน จากประสบการณ์ของผม ผมค้นพบว่า นวัตกรรมที่ดีต้องมีเงื่อนไขสำคัญ 2 ประการ คือ นวัตกรรมที่ดีจะต้องสามารถขยายธุรกิจไปยังพื้นที่อื่น ๆ ได้ (Scalability) เช่น การนำโมเดลธุรกิจไปใช้ในต่างประเทศ และเป็นสินค้าที่ลูกค้าสามารถซื้อซ้ำได้ (Repeatability) ไม่ใช่สินค้าที่ขายเพียงครั้งเดียวแล้วจบแต่จะต้องเป็นสินค้าที่ซื้อซ้ำได้
อีกสิ่งที่สำคัญคือ ไม่จำเป็นต้องทำวิจัยเอง แต่ควรใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การทำวิจัยเองอาจใช้เวลานานและต้นทุนสูง ดังนั้น การซื้องานวิจัยหรือร่วมมือกับนักวิจัยที่มีผลงานอยู่แล้ว เพื่อนำมาต่อยอดเป็นธุรกิจ อาจเป็นทางเลือกที่คุ้มค่ากว่า
📌ปัจจุบัน การเข้าถึงงานวิจัยที่มีคุณภาพทำได้ง่ายขึ้น มีมหาวิทยาลัยและอุทยานวิทยาศาสตร์หลายแห่งมีสิทธิบัตรและผลงานวิจัยที่พร้อมนำไปใช้เชิงพาณิชย์ เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ให้การสนับสนุนด้านนวัตกรรมและสิทธิบัตร ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำไปต่อยอดได้
📌สุดท้ายนี้ ผมอยากฝากถึงผู้ประกอบการรุ่นใหม่ว่า การเป็นผู้ประกอบการที่ดี ไม่จำเป็นต้องเก่งทุกอย่าง แต่สิ่งสำคัญคือ การหาทีมที่มีศักยภาพ ดึงคนเก่งเข้ามาร่วมงาน และใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด แนวคิดเหล่านี้จะช่วยให้การต่อยอดงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ได้ง่ายขึ้น
⛰️ อุทยานวิทยาศาสตร์ ม.อ. พวกเราพร้อมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมออกสู่เชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ
#อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
#นิคมวิจัยแห่งแรกของภาคใต้
#PSUSCIENCEPARK
#SCIENCEPARKสร้างการเติบโตด้วยนวัตกรรม